วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สรุปบทที่ 9 E-Government


e-government คืออะไร?
e-government หรือรัฐอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วยหลักการที่เป็นแนวทาง 4 ประการคือ 
1.สร้างบริการตามความต้องการของประชาชน 
2.ทำให้รัฐและการบริการของรัฐเข้าถึงได้มากขึ้น
3.เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยทั่วกัน 
4.มีการใช้สารสนเทศที่ดีกว่าเดิม 

e-government คือ วิธีการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลงานของภาครัฐ และปรับปรุงการบริการแก่ประชาชน และการบริการด้านข้อมูลเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีจะนำมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของการเข้าถึง และการให้บริการของรัฐ โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคน 3 กลุ่ม คือ ประชาชน ภาคธุรกิจและข้าราชการเอง ผลพลอยได้ที่สำคัญที่เราจะได้รับคือความโปร่งใสที่ดีขึ้นอันเนื่องมากจากการเปิดเผยข้อมูลที่หวังว่าจะนำไปสู่การลดคอรัปชั่น หากเทียบกับ e-commerce แล้ว e-government คือ G-to-G1 Transaction และมีลักษณะเป็น intranet มีระบบความปลอดภัย เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ ในขณะที่ e-services เทียบได้กับ B-to-G2 และ G-to-C3 Transaction ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในการให้บริการ โดยภาคธุรกิจกับประชาชนคือผู้รับบริการ 

e-government กับ e-services มีความเกี่ยวพันกันมาก กล่าวได้ว่า e-government เป็นพื้นฐาน ของ e-services เพราะการให้บริการของรัฐต่อประชาชนนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีเครือข่ายภายในระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองที่มีความปลอดภัย และทำให้องค์กรสามารถแลกเปลี่ยนสารสนเทศกันได้ การพัฒนาระบบสารสนเทศและการพัฒนาทักษะ รวมทั้งองค์ความรู้ของหน่วยงานเป็นพื้นฐานสำคัญของการให้บริการของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการที่คาบเกี่ยวกันหลายหน่วยงานแต่เป็น one-stop service เป้าหมายปลายทางของ e-government ไม่ใช่การดำเนินการเพื่อรัฐ แต่หากผลประโยชน์สูงสุดของการเป็น e-government คือประชาชนและภาคธุรกิจ e-government เป็นโอกาสที่จะขยายศักยภาพของการให้บริการแก่ประชาชน ไม่เฉพาะภายในประเทศ แต่รวมทั้งประชาชนที่อยู่ต่างประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาครัฐนั่นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง e-government เป็นการนำกลวิธีของ e-commerce มาใช้ในการทำธุรกิจของภาครัฐ เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ ส่งผลให้เกิดการ บริการแก่ประชาชนที่ดีขึ้น การดำเนินธุรกิจกับภาคเอกชนดีขึ้น และทำให้มีการใช้ข้อมูลของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

ทำไมต้องเป็น e-government?

ปัจจัยภายในที่ทำให้หน่วยงานของรัฐต้องปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวไปสู่ e-government ประการแรก คือ ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และอัตรากำลัง แม้ว่าในเบื้องต้นการดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่ e-government นั้นจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ แต่ในระยะยาวแล้ว แน่นอนว่าการทำให้เกิดการบริการต่างๆทางอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ลดต้นทุนไปได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่การให้บริการ การจัดพิมพ์แบบฟอร์มซึ่งจะกลายเป็น electronic form ลดเจ้าหน้าที่ที่จะต้องมาให้บริการและมานั่งป้อนข้อมูล นอกจากนี้ ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือการผลักดันในระดับนโยบาย ทำให้หน่วยงานไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ต้องปรับปรุงการทำงานและการบริการประชาชนให้สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงาน ตลอดจนนโยบายแห่งชาติ การมีแผนแม่บทไอทีก็เป็นแรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำ ให้หน่วยงานต้องทบทวนการดำเนินงานด้านไอทีเพื่อให้มีการใช้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น สำหรับปัจจัยภายนอกนั้นมาจากสภาวะของการแข่งขันระหว่างประเทศมีสูงมาก การเปิดการค้าเสรี ทำให้ประเทศต้องเตรียมความพร้อมไว้ในหลายด้าน รวมทั้งความพร้อมด้านการบริการของรัฐ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกกล่าวหาว่ามีการคอรัปชั่นสูง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต่างประเทศครั่นคร้ามต่อการมาลงทุนในประเทศไทยหรือต้องติดต่อกับส่วนราชการ e-government จะทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น เมื่อผนวกกับการบริการที่สะดวกรวดเร็ว เชื่อถือได้ จะเป็นแรงจูงใจสำหรับนักลงทุนและส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ เฉกเช่นประเทศใกล้บ้านอย่างสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องปรับปรุงการให้บริการของภาครัฐให้เป็นสิ่งที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างเห็นได้ชัด 
กล่าวโดยสรุป สาเหตุที่ทำให้ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน มีทั้งปัจจัยภายนอกที่รุมเร้าให้ภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นภาวะของเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ผลกระทบที่เกิดจากจากการค้าเสรีระหว่างประเทศซึ่งทำให้ประเทศทั้งหลายต้องปรับกระบวนการทำงานกันใหม่โดยมีไอทีเป็นเครื่องมือพื้นฐานของการปรับปรุงกระบวนการเหล่านี้ ปัจจัยภายในคือข้อจำกัดของหน่วยงานของรัฐทั้งด้านงบประมาณและกำลังคนของรัฐเอง แม้ว่าจะมีความจำเป็นที่ในอนาคตประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่การเป็น e-government แต่ก็มีหลายประเด็นที่ควรพิจารณา เพื่อให้การพัฒนาไปสู่ e-government ดำเนินอย่างสอดคล้องกับสภาพการณ์และข้อเท็จจริงของประเทศมากที่สุด

ประเด็นของ e-government

1. ประชาชน คือ ลูกค้าสำคัญ 
e-government คือการสร้างการบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วย ด้วยการนำเสนอบริการใหม่ๆ เหล่านั้น จะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าซึ่งก็คือประชาชน และภาคธุรกิจ ทั้งนี้ คำว่า "ประชาชน" ควรมีความหมายครอบคลุมถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคม และผู้ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศด้วย e-government ไม่ควรทำให้เกิดปัญหาการเพิ่มช่องว่างระหว่างประชาชนในสังคม การนำอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นสื่อสำคัญของการให้บริการของรัฐในอนาคตมาใช้ มีแนวโน้มว่าจะทำให้ช่องว่างระหว่างผู้มีและเข้าถึงเทคโนโลยี "ได้เปรียบ" และ "มีโอกาส" มากกว่าคนอีกกลุ่มซึ่งโอกาสและการเข้าถึงเทคโนโลยีน้อยกว่า ตัวอย่างที่เห็นชัดเช่นภาคการเกษตร ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับข้อมูลข่าวสารล่าช้าที่สุด แม้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำไอทีมาใช้เพื่อการให้บริการด้านข้อมูล อาทิเรื่อง Zoning เพื่อให้เกษตรกรได้รับข่าวสารเกี่ยวกับดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช นำระบบ GIS มาใช้เพื่อการวางแผนด้านเกษตรกรรม แต่ก็ยังมีประเด็นปัญหาอีกหลายประการซึ่งยังต้องการการแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ ภาคธุรกิจก็นับเป็นลูกค้าสำคัญของรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้บริการแง่ของการบริการด้านข้อมูล อีกส่วนคือการเป็นผู้ร่วมลงทุน หรือให้บริการแทนรัฐ ในต่างประเทศการเป็น partnership กับภาคเอกชนเป็นเรื่องที่พบเห็นโดยทั่วไป มีบริษัทที่ให้บริการแก่รัฐเพื่อสนับสนุนงาน ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหรือบางครั้งบริษัทเหล่านี้อาจให้บริการบางอย่างแก่ประชาชนเสียเองก็มี การที่รัฐต้องเป็นพันธมิตรกับภาคเอกชน เนื่องจากภาครัฐมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของกำลังคน และแง่ของการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งคงต้องยอมรับว่าภาคเอกชนมีความก้าวหน้ากว่าภาครัฐมาก ดังนั้น เบื้องหลังของการให้บริการบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์คือการบริการจากภาคเอกชนที่เป็นพันธมิตรเกือบทั้งสิ้น โดยทั้งสองฝ่ายต่างต้องเอื้อประโยชน์ และทดแทนในส่วนที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มี ดังนั้น การผลักดันและดำเนินการเพื่อให้เกิด e-government ต้องคำนึงว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้น ต้องกระจายในสังคมอย่างทั่วถึง ไม่ตกอยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างประชาชนในสังคมได้ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมด้วย

2. ข้อมูล 
อาจจะกล่าวได้ว่าปัญหาของการไปสู่ e-government ทั่วโลกคือเรื่องการทำอย่างไรที่จะให้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แม้ว่าจะมีระบบที่แตกต่างกันก็ตาม ประเด็นนี้เป็นปัญหามาโดยตลอด นอกเหนือจากปัญหาเรื่องความไม่ update ของข้อมูลหรือความซ้ำซ้อนของข้อมูล สาเหตุเพราะการพัฒนาระบบสารสนเทศของรัฐต่างคนต่างทำมาตั้งแต่ต้น ทำให้เมื่อถึงจุดที่ต้องมาแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือใช้ข้อมูลร่วมกัน ก็ทำให้เกิดปัญหาว่าทำได้ยาก หากจะให้เปลี่ยนระบบของหน่วยงาน ก็คงเป็นไปไม่ได้ หน่วยงานมักไม่ยอมเปลี่ยนระบบของตัวเอง เพราะนั่นหมายถึงสิ่งที่ลงทุนมาใช้ไม่ได้ และคงต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมหาศาลในการปรับเปลี่ยนระบบ นอกจากนี้หากปรับเปลี่ยนระบบใหม่ หน่วยงานต้องจัดหางบประมาณเพื่อฝึกอบรมบุคลากรให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นผู้ให้บริการได้ ดังนั้น แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะมีความต้องการใช้ข้อมูลของหน่วยงานอื่น แต่ก็ไม่ต้องการเปลี่ยนระบบ ทางออกที่หน่วยงานรัฐเคยใช้คือการแปลงรหัสข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้ได้ อย่างเช่นในกรณีข้อมูลของสำนักประมวลผลการทะเบียน กรมการปกครอง ซึ่งใช้วิธีนี้กับหน่วยงานที่มาขอใช้ข้อมูลซึ่งก็ไม่สะดวกในทางปฏิบัตินัก การศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดแนวทางเพื่อการแก้ปัญหาเหล่านี้ อาทิ หน่วยงานในสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า Digital Government Research Center: DGRC ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้ National Science Foundation: NSF ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยมวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทุนด้านงานวิจัยเกี่ยวกับไอที หรือการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยจากทั่วโลก โดยมีเป้าหมายคือเพื่อปรับปรุงคุณภาพและขอบเขตของการให้บริการ online ของรัฐ และประเด็นที่อยู่ในความสนใจคือการทำให้ระบบสารสนเทศที่แตกต่างกันของหน่วยงานรัฐสามารถ ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย ด้วยการศึกษาวิจัยด้านไอที ทำให้ในปัจจุบัน มีการพัฒนาภาษาที่เรียกว่า Extensive Markup Language หรือ XML ขึ้นเพื่อให้เกิดมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยที่หน่วยงานไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบไปด้วย XML ใช้ได้กับหน่วยงานที่มีระบบคอมพิวเตอร์ต่างกัน หรือมีระบบผสม เช่นมีทั้งระบบ client/server application หรือเป็น web-based system ก็สามารถใช้ XML ได้ ถึงกับมีผู้กล่าวว่า XML นี่แหละที่จะมาแทนระบบ EDI เนื่องจากไม่ยุ่งยากซับซ้อน ราคาถูกกว่า และใช้ระยะเวลาการติดตั้งเพื่อนำมาใช้งานสั้นกว่าด้วย กระนั้น XML นับเป็นเทคโนโลยีใหม่ หลายหน่วยงานในต่างประเทศได้นำมาใช้ในโครงการทดลอง เพื่อประเมินผลของการใช้งานก่อนที่จะนำไปใช้จริง นอกจากนี้แม้ว่าหน่วยงาน อาจ download XML ได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ก็อาจจะไม่มีซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนการทำงานของ XML ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียงบประมาณ (ซึ่งไม่มากนัก) ในการจัดหามาเพิ่มเติม สำหรับในประเทศไทย ประเด็นเรื่องมาตรฐานของการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงในการอบรม CIO เกือบทุกรุ่นก็ว่าได้ ซึ่งเป็นที่มาของการศึกษาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลของภาครัฐหรือที่เรียกว่า Government Data Infrastructure (GDI) โดยการศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือการเสนอมาตรการในการบริหารจัดการการเชื่อมโยงของข้อมูล 4 ประเภทคือข้อมูลบุคคล นิติบุคคล สถานที่/ที่อยู่ และพิกัดทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาต้นแบบ (prototype) ของการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งภายใน และระหว่างหน่วยงานของรัฐ โดยใช้เทคโนโลยีของ XML การศึกษาวิจัยนี้คาดว่าจะใช้เวลา 12 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ นอกจากเรื่องมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งต้องการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลแล้ว เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นประเด็นสำคัญของ e-government และ e-service เพราะการให้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตนั้น หากประชาชนขาดความไว้วางใจในความปลอดภัยของระบบแล้ว ประชาชนก็จะไม่ใช้บริการ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเปล่า หรือลงทุนไม่คุ้มค่าได้ ข้อมูลจากการสำรวจเกี่ยวกับการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในอเมริกา พบว่า 62% ของประชาชน และ 82% ของภาคธุรกิจใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงบริการและข้อมูลของรัฐ แต่ปัญหาสำคัญที่พบคือเรื่องของความไว้วางใจ พบว่ามีเพียง 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ไม่รู้สึกกังวลในการให้ข้อมูลส่วนตัวทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นอุปสรรคหนึ่งของ e-government ที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

3. โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ 
การดำเนินการเพื่อไปสู่ e-government นั้น จำเป็นต้องจะต้องมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศทั่วประเทศ โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศได้แก่โทรศัพท์ โทรศัพท์ทางไกล และเครือข่ายโทรคมนาคมที่จะเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายของภาครัฐ และทำให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นจริง การมีโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่พร้อมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ทั่วถึงจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนในสังคมและเป็นการสร้างโอกาสให้คนกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ลดโอกาสของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญในมาตรา 78 ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศนั้น ในปี พ.. 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เนคเทครับผิดชอบดำเนินโครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐเพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดต้นทุนด้านเครือข่ายสารสนเทศของหน่วยราชการ ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐสะดวกและมีมาตรฐานขึ้น ซึ่งทำให้เกิดสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ หรือ สบทร. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการแก่ภาครัฐ 5 กลุ่มบริการ คือ 
1. บริการสื่อสารขั้นต้น หมายถึงบริการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายสาร-สนเทศภาครัฐ หรือ GINet (Government Information Network) เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยน ข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้ 
2. บริการเครือข่าย หมายถึงการให้บริการเสริมบนเครือข่าย เช่น e-mail ที่มีความปลอดภัย (secure e-mail), FTP, Software และข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต 
3. บริการงานคอมพิวเตอร์แบบกระจาย บริการให้ระบบเครือข่ายระหว่างหน่วยงานสามารถทำงานได้ โดยมีมาตรฐานของข้อมูลและการรับส่งเดียวกันและปลอดภัย 
4. บริการงานประยุกต์และสารสนเทศหมายถึงบริการซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการที่ลดความซ้ำซ้อน 
5. บริการส่งงานแก่ผู้ใช้ หมายถึงบริการเพื่อให้หน่วยงานใช้ไอทีเพื่อปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน เช่น การออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างมั่นใจ แม้ว่าจะมีการจัดตั้งสบทร. แต่สบทร.ก็ไม่ได้ดำเนินการในลักษณะบังคับว่าต้องให้หน่วยงานรัฐมาใช้บริการของสบทร.เท่านั้น หากแต่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของรัฐ ดังนั้น สบทร.จึงต้องให้บริการที่จูงใจและมีคุณภาพเพื่อให้เครือข่ายสารสนเทศของภาครัฐขยายขอบเขตของหน่วยงานรัฐที่มาใช้บริการ จนกลายเป็นเครือข่ายของภาครัฐอย่างแท้จริง

4. วิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์แห่งชาติ 
เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนกลยุทธ์เพื่อทำให้เกิด e-government อย่างมีทิศทางและกรอบเวลาที่ชัดเจน ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีหลายประเทศประกาศนโยบาย หรือผู้นำออกมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเป็น e-government ให้ประชาชนได้รับทราบ การประกาศในลักษณะนี้เปรียบเสมือนคำสัญญาที่ภาครัฐให้แก่ประชาชนว่าจะผลักดันให้เกิดบริการอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเวลาใด และจะต้องปฏิบัติให้ได้ตามนั้น ในขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐจำเป็นที่จะต้องมีกรอบกลยุทธ์ เพื่อเป็นคู่มือ ทำให้เห็นทิศทางและเป้าหมายของการ ก้าวไปสู่ e-government ร่วมกัน สำหรับประเทศไทย การผลักดันในเรื่องของการบริการอิเล็กทรอนิกส์ การนำไอทีมาใช้เพื่อการบริหาร บริการ และการเชื่อมโยงระบบของหน่วยงานของรัฐ ได้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แผนสภาพัฒน์ฯ ฉบับที่ 8 แผนไอทีแห่งชาติ รวมทั้งแผนการปฏิรูประบบบริหารงานภาครัฐตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งแผนแม่บทไอทีของแต่ละกระทรวง แต่ก็มีปัญหาในการรับไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคนนั่นเอง 
ดังนั้น หากถามว่าประเทศไทยเราจะก้าวไปสู่ e-government เมื่อไร บริการกี่เปอร์เซ็นต์ จะเป็นบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วยบริการอะไรบ้าง แผนปฏิบัติการที่เป็นแผนร่วมของภาครัฐทั้งหมดเป็นอย่างไร หรือวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ของไทยเป็นอย่างไร แนวทางหนึ่งที่ชัดเจนซึ่งประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติได้กล่าวถึงในงานสัปดาห์เทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐครั้งที่ 1 และภาครัฐใช้กันอยู่คือ การก้าวไปสู่ "การบริหาร" และ "การบริการ" ของรัฐแบบ 4 . หรือที่เรียกว่า "ที่เดียว ทันใด ทั่วไทย ทุกเวลา" นั่นเอง

บทสรุป
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นประเด็นสำคัญส่วนหนึ่งของการก้าวไปเป็น e-government อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกประเด็นสำคัญอีกหลายประเด็นที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน อาทิเรื่องกฎหมาย หรือการปรับกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคของการเป็น e-government มีการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับไอที 6 ฉบับ ซึ่งดำเนินการอยู่ รวมทั้งการปรับแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ การปรับแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ นอกจากนี้ เรื่องของการพัฒนาและเตรียมความพร้อมความรู้ของข้าราชการและประชาชนในการติดต่อสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งด้านเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถเป็นเจ้าของหรือผู้ผลิตเทคโนโลยี ก็นับเป็นประเด็นที่จะต้องดำเนินการต่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมด้วย เหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะสานฝันของภาครัฐไทยในก้าวไปสู่ e-government ให้เป็นจริง ซึ่งคงไม่ไกลเกินไปนัก ซึ่งผู้เขียนหวังว่าการเป็น e-government จะดำเนินไปอย่างมีทิศทาง และเหมาะสมกับประชาชนของประเทศของเรามากที่สุด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น